Home Icon

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องต้องรู้สำหรับมนุษย์เงินเดือนวัยเริ่มทำงาน

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
08 July 2024
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องต้องรู้สำหรับมนุษย์เงินเดือนวัยเริ่มทำงาน

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว เราทุก ๆ คน ต่างก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ความรับผิดชอบที่มากขึ้นทั้งในด้านการใช้ชีวิต การทำงาน การเจอสังคมใหม่ ๆ ฯลฯ เพื่อให้ชีวิตในช่วงวัยทำงานประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังเอาไว้ แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องเจออย่างแน่นอนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานหรือมีรายได้ นั่นก็คือ “การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ ส่งผลให้คนที่พึ่งทำงานเป็นครั้งแรกเกิดความสงสัยว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร ? คำนวณอย่างไร ? และเสียได้ที่ไหนบ้าง ? ฯลฯ ซึ่งในบทความนี้ก็คงจะเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทาง เพราะเราจะพาคุณไปไขข้อสงสัยและเตรียมพร้อมสำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถูกต้อง

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร ?

หลาย ๆ คนเพิ่งเริ่มทำงานอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องภาษี งั้นเรามาเริ่มทำความรู้จักกับ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" กันก่อน ภาษีประเภทนี้เป็นเงินที่เราต้องจ่ายให้กับรัฐบาลตามกฎหมาย โดยคำนวณจากรายได้ที่เราได้รับในแต่ละปี ซึ่งบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีจากการได้รับเงินดังนี้ 

  • เงินได้จากการจ้างงาน เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ บำนาญ
  • เงินได้จากค่าสิทธิ หรือเรียกว่าค่าตอบแทนจากการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์
  • เงินได้จากการลงทุนในทรัพย์สิน คือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้
  • เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ 
  • เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ทนาย นักแสดง ฯลฯ 
  • เงินได้จากการทำธุรกิจหรือเงินได้อื่น ๆ

 

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ?

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

  • บุคคลธรรมดา
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  • วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

ภาษีอัตราก้าวหน้าคืออะไร ?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยนั้นใช้ระบบ "ภาษีอัตราก้าวหน้า" หมายความว่า ยิ่งเรามีรายได้มาก อัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็จะยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ 

 

ตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขั้นเงินได้สุทธิ (บาท)

อัตราภาษี (%)

ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้น (บาท)

ภาษีสะสมสูงสุดของแต่ละขั้น (บาท)

ไม่เกิน 150,000

0

-

-

150,001 - 300,000

5

7,500

7,500

300,001 - 500,000

10

20,000

27,500

500,001 - 750,000

15

37,500

65,000

750,001 - 1,000,000

20

50,000

115,000

1,000,001 - 2,000,000

25

250,000

365,000

2,000,001 - 5,000,000

30

900,000

1,265,000

มากกว่า 5,000,000

35

-

-

 

หมายเหตุ :

  • ข้อมูลในตารางนี้เป็นข้อมูลสำหรับปีภาษี 2566
  • เงินได้สุทธิ หมายถึง เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
  • สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/

 

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นางสาว C เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือน 25,000 บาทต่อเดือน สถานะโสด และจ่ายประกันสังคม 750 บาทต่อเดือน

ขั้นตอนการคำนวณ

1. หารายได้พึงประเมิน

1.1 เงินเดือน: 25,000 บาท/เดือน x 12 เดือน = 300,000 บาท

2. หักค่าใช้จ่าย

2.1 หักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. หักค่าลดหย่อน

3.1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว : 60,000 บาท

3.2 ค่าลดหย่อนประกันสังคม : 9,000 บาท

สรุปค่าลดหย่อนรวม : 69,000 บาท

4. หาเงินได้สุทธิ

เงินได้สุทธิ = รายได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

= 300,000 - 100,000 - 69,000

= 131,000 บาท

5. คำนวณภาษี

5.1 เงินได้สุทธิ 131,000 บาท = อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี

สรุป

นางสาว C ไม่ต้องเสียภาษี เพราะเงินสุทธิไม่ถึง 150,000 บาท (ตามตารางด้านบน) แต่ทั้งนี้ยังคงต้องยื่นแบบแสดงภาษีต่อกรมสรรพากรทุกปี

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง(บริษัทส่วนใหญ่จะมีฝ่าย HR หรือฝ่ายบัญชีจะเป็นผู้จัดทำให้) ซึ่ง 50 ทวิ เป็นเอกสารที่จะระบุรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ เช่น ปีนั้นคุณมีรายได้รวม และมีเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมดเท่าไหร่ เป็นต้น
  2. เอกสารลดหย่อนภาษี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา และบุตร, จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน, เบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพต่าง ๆ

 

ช่องทางการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องไปยื่นยังสำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่
  • กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้
  • ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th (ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสะดวกและรวดเร็ว)

 

หากยื่นภาษีไม่ทันจะทำอย่างไรดี ?

หากคุณยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด คุณจำเป็นที่จะต้องนำเอกสารไปยื่นภาษีเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน โดยไม่สามารถยื่นเรื่องผ่านทางออนไลน์ได้ ทั้งนี้จะมีการปรับหรือบทลงโทษในกรณีที่คุณไม่ยื่นภาษีในระยะเวลาที่กำหนดดังต่อไปนี้

  • กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

รายละเอียดข้างต้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือน(พึ่งเริ่มทำงาน) ควรที่จะต้องรู้และศึกษาข้อมูลเอาไว้ เพราะนี่คือหน้าที่และกฎหมายที่คนไทยที่มีรายได้จะต้องยื่นแบบแสดงภาษีให้กับกรมสรรพากรทุก ๆ ปี ในช่วงเดือนมีนาคม และไว้โอกาสหน้า เราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวบรวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับชาวหอพักอพาร์ทเม้นท์

RELATED ARTICLES

อ่านก่อนพลาด! สัญญาเช่าหอพักที่คุณควรรู้ก่อนจรดปากกาเซ็น

อ่านก่อนพลาด! สัญญาเช่าหอพักที่คุณควรรู้ก่อนจรดปากกาเซ็น

การเซ็นสัญญาเช่าหอพักนั้นจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีและถี่ถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาในระหว่างการเช่าหรือตอนที่กำลังจะย้ายออก อีกทั้งสัญญาเช่าหอพักยังถือเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งถ้าเจ้าของหอพักหรือผู้เช่าเกิดทำผิดสัญญา เอกสารฉบับนี้ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ในทันที ฉะนั้นแล้วในบทความนี้เราจะขอพาคุณไปรู้จักประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบในสัญญาเช่าหอพักก่อนจรดปากกาเซ็น เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่า...การเซ็นสัญญาเช่าหอพักในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างยุติธรรมและปราศจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้คุณปวดหัวได้ในอนาคต

โพสต์เมื่อ13 December 2024
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

สำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำมานานแล้วอาจกำลังหาสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 อยู่ ในวันนี้ทีมงาน Renthub ก็ได้รวบรวมข้อมูลอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67) มาฝาก

โพสต์เมื่อ19 July 2024

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2024, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram
Instagram
Instagram